ประกาศและข่าวสาร

รายได้ต่อหัวคนไทย ปี 2566 ลดฮวบ หลัง สศช.ปรับจีดีพีรอบใหม่

รายได้ต่อหัวคนไทย ปี 2566 ลดฮวบ ภายหลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดจีดีพีไทยตลอดทั้งปีนี้ลงเหลือ 2.5-3% เช็ครายละเอียดข้อมูลที่แท้จริงทั้งหมดรวมไว้ที่นี่
รายได้ต่อหัวคนไทย ปี 2566 จำต้องปรับลดลงจากประมาณการเดิมอย่างแน่นอนแล้ว ภายหลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าตลอดทั้งปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ของไทย จะขยายตัวได้เพียง 2.5-3% ลดลงจากจากประมาณการเดิม 2.7-3.7%
 
มีต้นเหตุมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2566 ออกมาต่ำกว่าที่คาด นั่นเพราะขยายตัวได้แค่ 1.8% ชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสแรก ปี 2566 เป็นผลมาจากการส่งออกที่ปรับลดลงต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เป็นต้นมา โดยปริมาณการส่งออกไตรมาสนี้ ติดลบไปถึง 5.7%
 
มิหนำซ้ำยังส่งผลไปถึงส่งผลถึงสาขาอุตสาหกรรมต้องโดนหางเลขติดลบตามมาที่ 3.3% เช่นเดียวกับการอุปโภคภาครัฐบาล ที่ติดลบ 4.3% เพราะสิ้นสุดมาตรการรัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงถึง 25% นั่นจึงทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำเพียงแค่ 2.2% เท่านั้น
 
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ สศช. ต้องปรับลดประมาณการเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ลงทั้งแผง มีผลถึงการประมาณการ รายได้ต่อหัว หรือ GDP Per Capita ของคนไทย ในปี 2566 ลงไปด้วยเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
ประมาณการเดิม รายได้ต่อหัวคนไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 262,633.3 บาทต่อคนต่อปี
ประมาณการใหม่ รายได้ต่อหัวคนไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 259,409.3 บาทต่อคนต่อปี
หรือมีรายได้ต่อหัว ลดลงจากประมาณการเดิม 3,224 บาทต่อคนต่อปี
ทั้งนี้หากเทียบประมาณการรายได้ต่อหัว หรือ GDP Per Capita ของคนไทย ในปี 2566 เป็นดอลลาร์สหรัฐ พบว่า
 
ประมาณการเดิม รายได้ต่อหัวคนไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 7,886.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี
ประมาณการใหม่ รายได้ต่อหัวคนไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 7,629.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี
หรือมีรายได้ต่อหัว ลดลงจากประมาณการเดิม 257.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี
 
สำหรับรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2566 ในด้านต่าง ๆ สศช. รายงานไว้ดังนี้
 
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค
 
สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ในปี 2566 ประกอบไปด้วย
 
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 5% ต่อเนื่องจาก 6.3% ในปี 2565 และเป็นการปรับเพิ่มจาก การขยายตัว 3.7% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน และฐานรายได้โดยเฉพาะนอกภาคเกษตรในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ประกอบกับความเชื่อมั่น ผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์สูง
 
2. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 3.1% เทียบกับ การขยายตัว 0.2% ในปี 2565 และเป็นการปรับลดลงจากการลดลง 2.6% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2567
 
การลงทุนรวม
 
คาดว่าจะขยายตัว 1.6% ต่อเนื่องจาก 2.3% ในปี 2565 แต่เป็นการปรับลดลงจาก 2.1% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา แยกเป็น
 
1. การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 1.5% ชะลอลงจาก 5.1% ในปี 2565 และปรับลดลงจาก 1.9% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าตามแนวโน้มการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลก และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
 
2. การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2% กลับมาขยายตัวจากการลดลง 4.9% ในปี 2565 แต่เป็นการปรับลดลงจากการขยายตัว 2.7% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดประมาณการอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์
 
คาดว่าจะลดลง 1.8% เทียบกับการขยายตัว 5.4% ในปี 2565 และการลดลง 1.6% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกในปี 2566 จะลดลง 1.8% เทียบกับการลดลง 1.1% ในการประมาณการครั้งก่อน ขณะที่คาดว่าราคาส่งออกจะอยู่ที่ (-0.5%) - 0.5% ปรับจาก (-1%) - 0.0% ในการประมาณการครั้งก่อน
 
เมื่อรวมกับการปรับลดสมมติฐานรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้า และบริการในปี 2566 จะขยายตัว 5% เทียบกับ 6.9% ในการประมาณการครั้งก่อน และชะลอลงจาก 6.8% ในปี 2565
 
ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/574695
 
@Wealthrepublic